ส่องแผน 3 เมืองที่มีเป้าหมายจะเป็น Net Zero City ก่อนปี 2050
ณัฐวีร์ พงศ์อาจารย์
ผู้ก่อตั้ง และผู้เชี่ยวชาญด้านความยั่งยืน
บริษัท แพลนเน็ตซี จำกัด
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกลายเป็นความท้าทายที่สำคัญระดับโลก หลายเมืองทั่วโลกได้เร่งพัฒนาแผนการเพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero หรือการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ เมืองเหล่านี้ไม่เพียงแต่จะเป็นต้นแบบในการต่อสู้กับวิกฤตสิ่งแวดล้อม แต่ยังส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนทั้งในด้านพลังงานสะอาด การขนส่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการจัดการทรัพยากรต่าง ๆ
ชวนมาดูแผนของ 3 เมือง ที่มีเป้าหมายจะเป็นเมืองที่ไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกก่อนปี 2050 ตามข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) แสดงถึงความพยายามที่หลากหลาย และเป็นแรงบันดาลใจให้กับเมืองอื่น ๆ ที่จะมีความมุ่งมั่นในการสร้างความยั่งยืนให้กับโลกไปด้วยกัน
1. โคเปนเฮเก้น ประเทศเดนมาร์ก
โคเปนเฮเก้น เป็นเมืองแรก ๆ ที่ประกาศเป้าหมายจะเป็นเมืองที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Neutral) ภายในปี 2025 โดยแผนหลักของเมืองที่มีชื่อว่า CPH 2025 Climate Plan ซึ่งเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ที่ครอบคลุมถึงเป้าหมาย และโครงการเฉพาะ ในสี่ด้านหลัก ได้แก่ การใช้พลังงาน, การผลิตพลังงาน, การขนส่ง, และการบริหารจัดการเมือง
- การใช้พลังงาน: โคเปนเฮเก้นตั้งเป้าหมายที่จะลดการใช้พลังงาน ภายในปี 2025 เมื่อเทียบกับ 2010 โดย ลดพลังงานความร้อน 20% ลดการใช้ไฟฟ้าในภาคธุรกิจและบริการ 20% ลดการใช้ไฟฟ้าของบ้านเรือน 10% และติดตั้งไฟฟ้าพลังงานโซลาร์ให้ได้ถึง 30MW ให้ครอบคลุมการใช้พลังงานไฟฟ้าของเมืองอย่างน้อย 1%
- การผลิตพลังงาน: การผลิตพลังงาน เป็นส่วนที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด คือ 65% และมีเป้าหมายจะให้เหลือแค่ 20% ภายในปี 2025 ปัจจุบัน ประเทศเดนมาร์กมีสัดส่วนของพลังงานหมุนเวียนสูงอยู่แล้วคือสูงถึง 24.3 TWh หรือ 86.4% ในปี 2020 จากโครงการกังหันลม โซล่าร์ และ Biomass โดยวางแผนจะเพิ่มขึ้นเป็น 43.2 TWh หรือถึง 99.9% ภายในปี 2030 โครงการสำคัญประกอบไปด้วย การทำไห้ระบบการส่งความร้อนของเมือง (District Heating) เป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral), การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดต้องมากกว่าความต้องการไฟฟ้าทั้งหมดของเมือง และการจัดการวัตถุดิบที่ยั่งยืน และการคัดแยกขยะเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด
- ระบบขนส่ง: เมืองเน้นการพัฒนาระบบขนส่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการเดินทางด้วย เท้า จักรยาน และระบบขนส่งสาธารณะให้ได้มากกว่า 75% โดยเป็นระบบขนส่งมวลชนที่ใช้พลังงานสะอาด การสร้างระบบโครงข่ายจักรยานที่สะดวกและปลอดภัย รวมถึงการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า และไฮโดรเจน
- การบริหารจัดการเมือง: มีการปรับปรุงอาคาร และโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงการปรับปรุงประสิทธิภาพพลังงานของอาคาร เช่น ระบบทำความร้อนเป็นพลังงานหมุนเวียน การใช้พลังงานของอาคารต้องลดลง 40% ไฟแสงสว่างตามท้องถนน ต้องลดลง 50% การติดตั้งแผงโซลาร์ PV สำหรับอาคาร ให่ได้ถึง 60,000 ตารางเมตร การปลูกต้นไม้ให้ได้ 1 แสนต้นในเมืองโคเปเฮเก้น การใช้เทคโนโลยีและระบบจัดการขยะที่มีประสิทธิภาพ และเปลี่ยนขยะเป็นพลังงาน
นอกจากนี้ เมืองยังมีการเตรียมจัดทำแผนงานขั้นต่อไปคือ Climate Plan 2035 โดยมีเป้าหมายจะลดการปล่อย CO2 โดยตรงในขอบเขตของเมือง (territorial emissions) ในส่วนของการบริโภค (consumption-based emissions) ให้เหลือ 5 tonCO2 ต่อหัวประชาการ ภายในปี 2035 นับว่าโคเปนเฮเก้น เป็นเมืองที่มีความมุ่งมั่นในการเป็นเมืองคาร์บอนต่ำ มีการกำหนดเป้าหมาย และแผนงานโครงการต่าง ๆ อย่างเป็นรูปธรรม ที่นำไปสู่การปฏิบัติ และการติดตามผลได้
อ้างอิง : The CPH 2025 Climate Plan | Urban Development (https://urbandevelopmentcph.kk.dk/climate)
2. ซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐอเมริกา
เมืองซานฟรานซิสโกมีเป้าหมายที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงให้ได้สุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2040 โดยมีเป้าหมายระยะกลางในการลดการปล่อยก๊าซลง 61% จากระดับปี 1990 ภายในปี 2030 และใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน 100% ภายในปี 2025 ซึ่งอยู่ภายใต้แผนปฏิบัติการด้านสภาพภูมิอากาศ (Climate Action Plan) ที่เน้นการดำเนินงานใน 6 ด้านหลัก ได้แก่ การจัดหาแหล่งพลังงาน การดำเนินการของอาคาร การขนส่ง การใช้ที่ดิน ที่อยู่อาศัย การบริโภคอย่างรับผิดชอบ และการดูแลระบบนิเวศให้แข็งแรง
- การปรับปรุงพลังงานอาคาร: ซานฟรานซิสโกได้ตั้งเป้าที่จะปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานของอาคารทุกประเภท โดยบังคับใช้นโยบายที่กำหนดให้ การใช้พลังงานในอาคารเปลี่ยนไปใช้ไฟฟ้าทั้งหมด และยกเลิกการใช้ก๊าซธรรมชาติ อาคารใหม่ใช้พลังงานหมุนเวียน 100% ภายในปี 2030 นอกจากนี้ยังมีโครงการสนับสนุนการปรับปรุงอาคารเก่าให้มีการใช้พลังงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น
- การส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน: เมืองได้พัฒนาและสนับสนุนการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลม พร้อมกับการเพิ่มการเชื่อมต่อระบบไฟฟ้าพลังงานสะอาดเข้าสู่โครงข่ายไฟฟ้าของเมือง โดยตั้งเป้าหมายใช้พลังงานหมุนเวียน 100% ภายในปี 2040
- การปรับปรุงระบบขนส่ง: ซานฟรานซิสโกเน้นการขนส่งคาร์บอนต่ำ โดยสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EVs) และพัฒนาระบบขนส่งมวลชนที่ใช้พลังงานสะอาด เช่น รถบัสไฟฟ้าและรถไฟฟ้าระบบราง นอกจากนี้ เมืองยังวางแผนเพิ่มเครือข่ายเส้นทางจักรยานและทางเดินเท้าเพื่อลดการใช้ยานพาหนะที่ปล่อยคาร์บอน
- การลดของเสีย: เมืองตั้งเป้าหมายจะลดขยะที่ถูกส่งไปยังหลุมฝังกลบ โดยการส่งเสริมการรีไซเคิล การลดของเสียจากการผลิต และสนับสนุนการจัดการขยะอาหารอย่างมีประสิทธิภาพ
- การพัฒนานโยบายเพื่อความยั่งยืน: ซานฟรานซิสโกยังเน้นการพัฒนานโยบายด้านสิ่งแวดล้อมที่เน้นการทำงานร่วมกับชุมชนและธุรกิจท้องถิ่น เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างยั่งยืนตลอดระยะยาว ฟื้นฟูพื้นที่ป่าและพื้นที่สีเขียวในเมือง เพื่อช่วยดูดซับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
แผน Net Zero ของเมืองซานฟรานซิสโกเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของความมุ่งมั่นในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความเป็นผู้นำในด้านพลังงานหมุนเวียน การขนส่งที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการปรับปรุงอาคารให้ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ การตั้งเป้าหมาย Net Zero ภายในปี 2040 ถือเป็นก้าวสำคัญในการสร้างอนาคตที่ยั่งยืน สำหรับเมืองที่มีการใช้พลังงานสะอาดจากพลังงานหมุนเวียน 100% ในปี 2025 ซานฟรานซิสโกจะกลายเป็นหนึ่งในเมืองต้นแบบที่สร้างความสมดุลระหว่างการพัฒนาเมืองกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
อ้างอิง : San Francisco Climate Action Plan (https://www.sfenvironment.org/climateplan)
3. ประเทศสิงคโปร์
เมืองที่สาม มาดูที่เพื่อนบ้านใกล้ ๆ เรา นั่นคือ สิงคโปร์ซิตี้ ประเทศสิงคโปร์นี่เอง
แผน Net Zero ของประเทศสิงคโปร์มีชื่อว่า Singapore Green Plan 2030 ซึ่งเป็นการวางแผนระยะยาวเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและเพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียน โดยแผนดังกล่าวมุ่งเน้นในหลายด้านเพื่อให้ประเทศสามารถบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2050 โดยมีเป้าหมายที่สำคัญ ใน 5 แกนหลัก ได้แก่
- เมืองในธรรมชาติ (City in Nature): มุ่งเน้นการเพิ่มพื้นที่สีเขียว อนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ และสร้างสิ่งแวดล้อมที่แข็งแกร่งเพื่อให้เมืองน่าอยู่ขึ้น
- การปรับเปลี่ยนพลังงาน (Energy Reset): ปัจจุบัน สิงคโปร์เป็นหนึ่งในเมืองที่มีการติดตั้งแผงโซลาร์หนาแน่นที่สุดในโลก โดยมีระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบลอยน้ำที่เขื่อน Tengeh ขนาด 60 เมกะวัตต์ ซึ่งมีพื้นที่เท่ากับสนามฟุตบอล 45 สนาม สิงคโปร์ยังคงเดินหน้าเพิ่มการติดตั้งแผงโซลาร์ให้มากขึ้นในพื้นที่ต่าง ๆ เช่น บนหลังคา เขื่อน และพื้นที่ว่างอื่น ๆ เป้าหมายภายในปี 2030 คือการติดตั้งแผงโซลาร์ให้ได้อย่างน้อย 2 กิกะวัตต์ ซึ่งจะสามารถผลิตพลังงานเพียงพอต่อความต้องการไฟฟ้ารายปีของครัวเรือนประมาณ 350,000 ครัวเรือน
- เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy): สิงคโปร์ใช้มาตรการต่างๆ เพื่อช่วยลดการปล่อยคาร์บอนในภาคอุตสาหกรรม ปรับเปลี่ยนเศรษฐกิจโดยการสร้างงานใหม่ในภาคสีเขียว พัฒนาภาคบริการด้านคาร์บอน และสนับสนุนการเงินสีเขียว จัดตั้งโครงการ เช่น “Resource Efficiency Grant for Energy” ที่สนับสนุนการปรับปรุงประสิทธิภาพพลังงานในบริษัทการผลิต และ “Energy Efficiency Fund” ที่ให้เงินสนับสนุนสูงถึง 70% เพื่อช่วยบริษัทต่างๆ เริ่มใช้เทคโนโลยีพลังงานที่มีประสิทธิภาพสูง นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำ เช่น การจับและกักเก็บคาร์บอน (CCUS) เพื่อช่วยลดการปล่อยคาร์บอนในอนาคต รวมถึง โครงการ “Enterprise Sustainability Programme” มุ่งเน้นไปที่การพัฒนาความสามารถด้านความยั่งยืน การฝึกอบรม และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
- อนาคตที่ยืดหยุ่น (Resilient Future): เตรียมพร้อมประเทศให้รับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น การรับมือกับระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นและสภาพอากาศที่รุนแรง
- การใช้ชีวิตอย่างยั่งยืน (Sustainable Living): ส่งเสริมให้ประชาชนลดการใช้ทรัพยากร เพิ่มการรีไซเคิล และลดการปล่อยคาร์บอนด้วยมาตรการประหยัดพลังงาน สิงคโปร์กำลังลดการปล่อยคาร์บอนและส่งเสริมความยั่งยืนผ่านการบริโภคที่น้อยลง การรีไซเคิล และการใช้ระบบขนส่งสาธารณะ เพื่อให้กลายเป็นประเทศที่ไร้ขยะและใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าด้วยเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) โดยมีแนวทาง “ลด ใช้ซ้ำ และรีไซเคิล” เป็นวิถีปฏิบัติของประชาชนและธุรกิจ ระบบหมุนเวียนน้ำผ่านการรีไซเคิลน้ำเสียเป็นน้ำใหม่ (NEWater) ถือเป็นต้นแบบในการนำวัสดุกลับมาใช้ใหม่ และการริเริ่มโครงการความรับผิดชอบของผู้ผลิตสำหรับของเสียอิเล็กทรอนิกส์และการคืนภาชนะเครื่องดื่มก็มีส่วนช่วยสร้างรูปแบบธุรกิจหมุนเวียนในสิงคโปร์
โครงการ Eco Stewardship Programme (ESP) ยังได้ถูกบรรจุในทุกโรงเรียนของกระทรวงศึกษาธิการ ตั้งแต่ระดับประถมจนถึงระดับเตรียมอุดมศึกษา เพื่อสร้างนักเรียนที่เป็นผู้พิทักษ์สิ่งแวดล้อม โดยตั้งเป้าให้ลดการปล่อยคาร์บอนจากภาคการศึกษาได้ถึงสองในสามภายในปี 2030 และทำให้โรงเรียนอย่างน้อย 20% เป็นโรงเรียนคาร์บอนเป็นศูนย์ (Carbon Neutral) ภายในปีเดียวกัน แผนดังกล่าวนี้ รวมถึงการพัฒนาระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่มุ่งเน้นการลดของเสียและการใช้น้ำอย่างยั่งยืน เพื่อลดการใช้ทรัพยากรอย่างฟุ่มเฟือย แผน Singapore Green Plan 2030 แสดงถึงความพยายามอย่างจริงจังของสิงคโปร์ในการเป็นประเทศที่ปลอดคาร์บอนและมีระบบพลังงานที่ยั่งยืน
อ้างอิง : Singapore Green Plan 2030 (https://www.greenplan.gov.sg), https://youtu.be/oTrwdqIRVKI
แผนของทั้ง 3 เมืองเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนถึงความมุ่งมั่นในการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน โดยตั้งเป้าหมายไปสู่การเป็นเมืองคาร์บอนเป็นศูนย์ (Net Zero) ผ่านการลดการปล่อยคาร์บอน พัฒนาพลังงานหมุนเวียน และใช้เทคโนโลยีสีเขียว เมืองเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าเป้าหมาย Net Zero นั้นเป็นไปได้จริง หากมีความตั้งใจที่ดี และมีการวางแผนอย่างเป็นระบบ เป็นแนวทางให้เมืองต่าง ๆ ที่ต้องการมุ่งสู่การเป็นเมืองคาร์บอนต่ำในอนาคต ได้นำมาศึกษา และประยุกต์ใช้แผนเหล่านี้ อย่างเหมาะสม